หัวข้อกระทู้ : รูปเก่า ซีเปียร์ ปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สำคัญ ของอุตรดิตถ์ พร้อมประวัติและ ราชหัถเลขา ร.5 และ ร.6 เสด็จประพาสต้นเมือง อุตรดิตถ์ ครับ
ผู้ตั้งกระทู้ : Rambo_Thaiตั้งกระทู้เมื่อ : 15 ม.ค. 56 - 08:08:42
รายละเอียด


รูปเก่า ซีเปียร์ พระแท่นศิลาอาสน์ ปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สำคัญ ของอุตรดิตถ์ กรอบเก่าผุพัง ตามกาลเวลา ดังที่เห็น ผมก็มีเหมือนกัน ตอนนี้ใส่กรอบใหม่ ไว้บูชาแล้ว พร้อมเรียบเรียง ประวัติ และ ราชหัถเลขา ร.5 และ ร.6 เสด็จประพาสต้นเมือง อุตรดิตถ์ ครับ

พระแท่นศิลาอาสน์เป็นพุทธเจดีย์ เช่นเดียวกับพระแท่นดงรัง เป็นที่เชื่อกันมาแต่โบราณว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งห้าพระองค์ในภัทรกัป นี้ ได้เสด็จและจะได้เสด็จมาประทับนั่งบนพระแท่นแห่งนี้ เพื่อเจริญภาวนา และได้ประทับยับยั้งในเวลาที่ตรัสรู้แล้ว เพื่อโปรดสัตว์ ซึ่งแสดงว่าพระแท่นศิลาอาสน์นี้ มีประวัติความเป็นมาอย่างต่อเนื่อง ในพระพุทธศาสนามายาวนาน ตัวพระแท่นเป็นศิลาแลง มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 8 ฟุต ยาวประมาณ 10 ฟุต สูง 3 ฟุต ที่ฐานพระแท่นประดับด้วยลายกลีบบัวโดยรอบ มีพระมณฑป ศิลปะเชียงแสนครอบ อยู่ภายในพระวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า พระแท่นศิลาอาสน์อาจมีมาก่อนแล้วช้านาน ก่อนที่พระเจ้าบรมโกศเสด็จไปบูชา เพราะพระแท่นศิลาอาสน์อยู่ริมเมืองทุ่งยั้งซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งสมัยอาณาจักรเชียงแสนก่อนสุโขทัย และบางทีชื่อทุ่งยั้งนั้นเอง จะเป็นนิมิตให้เกิดมีพระแท่น เป็นที่พระพุทธเจ้าประทับยับยั้ง เมื่อเสด็จผ่านมาทางนั้น ในทางตำนานมีคติที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จยังประเทศต่าง ๆ ภายนอกอินเดียด้วยอิทธิฤทธิ์ฌานสมาบัติ และได้ประดิษฐานเจดีย์ หรือตรัสพยากรณ์อะไรไว้ในประเทศเหล่านั้น เป็นคติที่เกิดในลังกาทวีป และประเทศอื่นได้รับเอาไปเชื่อถือด้วย จึงเกิดมีเจดีย์วัตถุและพุทธพยาการณ์ ที่อ้างว่าพระพุทธองค์ได้ทรงประดิษฐานเจดีย์ไว้ มากบ้าง น้อยบ้างทุกประเทศ เฉพาะเมืองไทย มีปรากฏในพงศาวดารโดยลำดับมาว่า พบรอยพระพุทธบาท ณ ไหล่เขาสุวรรณบรรพต เมื่อรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม รัชกาลพระเจ้าเสือได้เสด็จไปบูชาพระพุทธฉาย ณ เขาปัถวี และพระเจ้าบรมโกศ เสด็จไปบูชาพระแท่นศิลาอาสน์
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า นายช่างที่สร้างวิหาร วัดพระแท่นศิลาอาสน์ วัดพระฝาง และวัดสุทัศน์ เป็นนายช่างคนเดียวกัน บานประตูเก่าของพระวิหารเป็นไม้แกะสลักฝีมือดี แกะไม้ออกมาเด่น เป็นลายซ้อนกันหลายชั้น แม่ลายเป็นก้านขด ปลายเป็นรูปภาพต่าง ๆ เป็นลายเดียวกับลายบานมุขที่วิหารพระพุทธชินราช อาจสร้างแต่ครั้งพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านนา เคียงคู่กับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ในสมัยนั้น
ต่อมาพระเจ้าบรมโกศทรงมีพระราชศรัทธา ให้ทำประตูมุขตามลายเดิมถวายแทน แล้วโปรดให้เอาบานเดิมนั้นไปใช้เป็นบานวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ประตูวิหารเก่าบานดังกล่าวได้ถูกไฟไหม้ไปเมื่อ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2451 เป็นไฟป่าลุกลามไหม้เข้ามาถึงวัด ไฟไหม้ครั้งนั้น เหลือกุฏิซึ่งประดิษฐานหลวงพ่อธรรมจักรอยู่เพียงหลังเดียว ต่อมาพระยาวโรดมภักดีศรีอุตรดิตถ์นคร (อั้น หงษนันท์) เจ้าเมืองอุตรดิตถ์ ได้เรี่ยไรเงินสร้างและซ่อมแซมวิหาร ภายในวิหารมีซุ้มมณฑปครอบพระแท่นศิลาอาสน์ไว้[2]

งานเทศกาลนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์
ปัจจุบันงานเทศกาลนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ จัดขึ้นทุกปีโดยเริ่มวันงาน ตั้งแต่ วันขึ้น 8 ค่ำ ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน สาม
ประเพณี ทำบุญไหว้พระแท่นศิลาอาสน์มีมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว มีผู้มาสักการบูชาทั้งในเทศกาลและนอกเทศกาลตลอดปี พุทธศาสนิกชนมีความเชื่อว่า การได้มาสักการบูชาพระแท่นศิลาอาสน์ จะได้รับอานิสงส์สูงสุด ไม่ตกอยู่ในอบายภูมิ และเช่นเดียวกับพระพุทธบาทสระบุรี พุทธศาสนิกชนผู้มีความศรัทธา จะขวนขวายมานมัสการให้ได้ครั้งหนึ่งในชีวิต ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ตอนเหนือจังหวัดอุตรดิตถ์ จะพยายามเดินทางมานมัสการ พระแท่นศิลาอาสน์ แม้ว่าหนทางจะทุรกันดารเพียงใดก็ไม่ย่อท้อถอย และเห็นว่า เป็นการได้สร้างบุญกุศลที่มีค่าควร การมานมัสการจะกระทำทุกครั้งที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันมาฆบูชา ณ วันเพ็ญ เดือนสาม
งานเทศกาลนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ณ วันเพ็ญ เดือนสาม อันเป็นวันมาฆบูชา จะเริ่มตั้งแต่ วันขึ้น 8 ค่ำ ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสาม บรรดาพระภิกษุสงฆ์จะธุดงค์มาปักกลดพักแรมที่บริเวณใกล้วัด เมื่อถึงวันมาฆบูชา เวลาประมาณ 19.30 น. พระภิกษุสงฆ์จะเข้าไปในพระวิหาร แล้วสวดพระพุทธมนต์ มีพระธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร เป็นต้น เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ก็ออกมาให้ศีลให้พรแก่ผู้ที่มานมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ในตอนเช้าของทุกวันในระหว่างเทศกาล บรรดาพระสงฆ์ที่ธุดงค์มานมัสการ พระแท่นศิลาอาสน์ จะเดินทางเข้าไปบิณฑบาตตามหมู่บ้าน และบรรดาชาวบ้านจะนำอาหารมาถวายที่วัดอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อพระฉันอาหารเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็จะแบ่งปันอาหารร่วมรับประทานด้วยกัน รวมทั้งผู้ที่เดินทางมานมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ด้วย นับว่าเป็นการทำบุญกลางแจ้งที่ยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี
เนื่องจากพระบรมธาตุทุ่งยั้ง และวัดพระยืนพุทธบาทยุคล มีอาณาบริเวณอยู่ติดต่อกัน จึงจัดงานประจำปีพร้อมกันกับวัดพระแท่นศิลาอาสน์ เป็นเวลา 8 วัน 8 คืน ทำให้พุทธศาสนิกชนที่มาในงานเทศกาลนี้ได้ นมัสการพระบรมธาตุ และพระพุทธบาทด้วย เป็นการได้นมัสการพระพุทธเจดียสถาน อันเป็นที่เคารพสักการะ ได้ครบถ้วนในโอกาสเดียวกัน ยากจะหาที่ใดเสมอเหมือน

ตราประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แสดงภาพมณฑปพระแท่นศิลาอาสน์
ใน พ.ศ. 2483 เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ดำริให้มีการออกแบบตราประจำจังหวัดต่างๆ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัด และนำเสนอสถานที่สำคัญของแต่ละจังหวัดให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น คณะกรมการจังหวัดอุตรดิตถ์จึงได้เสนอให้กรมศิลปากร นำรูปมณฑปพระแท่นศิลาอาสน์มาประดิษฐ์เป็นตราประจำจังหวัด ตรานี้จึงได้รับการออกแบบครั้งแรกโดยพระพรหมพิจิตร เขียนลายเส้นโดย นายอุณห์ เศวตมาลย์ ลักษณะเป็นรูปมณฑปพระแท่นศิลาอาสน์มีลายช่อกนกขนาบอยู่สองข้างในวงกลม ต่อมาทางราชการจึงเพิ่มรูปครุฑ และอักษรบอกนามจังหวัดว่า \"จังหวัดอุตรดิตถ์\" เข้าไว้ที่ส่วนใต้ภาพพระแท่นด้วย ซึ่งตราดังกล่าวก็ยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน[3]
พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ คราวเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ พุทธศักราช ๒๔๔๔
ปี พุทธศักราช 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทางเรือมาทางลำน้ำน่านเข้าสู่เมืองอุตรดิตถ์ เมืองท่าแห่งทิศเหนือ บ้านเกิดของพระยาพิชัยดาบหัก....!!


ที่นี่เป็นเมืองเก่าแก่ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีเมืองพิชัยและเมืองสวางคบุรีเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เป็นเมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันอุตรดิตถ์ตั้งอยู่ทางใต้สุดของภาคเหนือและทางเหนือสุดของภาคกลาง ดังคำที่เรียกขานว่า จังหวัดเหนือล่างกลางบน

เมืองอุตรดิตถ์ อยู่ในเขตรอยต่อระหว่างภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ในอดีตเมืองนี้เคยเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าและเป็นชุมชนการค้าที่สำคัญในแถบภาคเหนือตอนล่าง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเห็นว่า ดินแดนนี้คงเจริญต่อไปในภายหน้า ระหว่างการเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือ ปี พุทธศักราช 2444 พระองค์จึงมีรับสั่งให้ย้ายที่ว่าการเมืองมาอยู่ที่บริเวณตำบลบางโพธิ์ท่าอิฐ ซึ่งก็คือตัวเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันนั่นเอง

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อุตรดิตถ์ถือเป็นอีกเมืองหนึ่งที่ยังคงรักษาคุณค่าแห่งเมืองประวัติศาสตร์ โบราณสถาน รวมถึงวิถีชีวิตของชาวเมืองไว้ได้แทบจะไม่แตกต่างจากเมื่อคราวที่พระองค์ได้เสด็จประพาสเมื่อร้อยปีที่ผ่านมา

เมืองอุตรดิตถ์

เมืองพิชัย และเมืองสวางคบุรี เป็นเมืองหน้าด่านในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน และส่วนหนึ่งติดหลวงพระบาง
โดยในอดีต อุตรดิตถ์ เป็นเมืองเล็กๆ ของเมืองพิชัย ซึ่งในครั้งนั้น เมืองพิชัยมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มากกว่า

ต่อมา ร.5 เมื่อเสด็จประพาสเมืองพิชัย ทรงเห็นว่าเศรษฐกิจมีการเจริยเติบโตมากที่เมืองอุตรดิตถ์ จึงโปรดให้ย้ายที่ว่าการเมือง
พิชัยและศาลเมืองพิชัย ไปอยู่ที่ตำบลท่าอิฐ หรือเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน

การคมนาคมสมัยนั้นอาศัยทางเรือเป็นหลัก มีท่าเทียบเรืออยู่ถึง 3 ท่าคือ ท่าเซา ท่าอิฐ และท่าโพธิ ซึ่งท่าโพธิ สามารถติดต่อการค้ากับเมืองหลวงพระบาง ซึ่งได้ตกอยู่ในอาณัติของฝรั่งเศสไปแล้ว (พื้นที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง) ส่วนท่าอิฐ สามารถติดต่อกับพ่อค้าจากพิษณุโลก ที่มาจากปากน้ำโพ และเรื่อยมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนล่างได้

ช่องภูดู่

ช่องภูดู่ ตำบลม่วงเจ็ดต้น อำเภอบ้านโคกเป็นช่องทางติดต่อกับ ปากลาย แขวงชัยยะบุรี ของ สปปล. ซึ่งปัจจุบันเป็นช่องทางผ่านแดนชั่วคราว สามารถไปมาหาสู่กันได้
และเชื่อว่าในอนาคต จะเป็นเส้นทางท่องเที่ยวสำคัญสู่ประเทศอินโดจีน และประเทศจีน รวมทั้งเป็นช่องทางการค้าขายด้วย
เนื่องจากมีทรัพยากรด้านป่าไม้ แร่ธาตุ รวมทั้งเหล็กน้ำพี้ที่ขึ้นชื่อสำหรับการตีดาบ

ตรอนตรีสินธ์

เมืองตรอน หรืออำเภอตรอน เป็นเมืองที่ ร.5 เสด็จทอดพระเนตรการตีดาบจากเหล็กน้ำพี้ ซึ่งมีคุณสมบัติแข็ง-เหนียวเป็นพิเศษ อ่อนนอกแข็งใน และถือว่า
เหล็กน้ำพี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิอย่างหนึ่ง มีบ่อเหล็กที่อำเภอทองแสนขัน อำเภอตรอนมีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากมีลำน้ำไหล
ผ่านและรวมกันถึง 3 สายคือ ลำน้ำพี้ ลำน้ำตรอน และลำน้ำน่าน จนเรียกอีกชื่อว่า ตรอนตรีสินธ์

เมืองลับแล

เมืองลับแล หรืออำเภอลับแล มีความอุดมสมบูรณ์เช่นเดียวกับเมืองตรอน ร.5 เสด็จทอดพระเนตรความอุดมสมบูรณของพืชพรรณต่างๆ และได้เปรียบเทียบกับเกาะชวาไว้ว่า \"..มีความอุดมสมบูรณ์เพราะมีลำน้ำผ่านหลายสาย ต้นข้าวอ้วน ล่ำ สมบูรณ์กว่าที่เกาะชวามาก ต้นไม้ทุกต้นในลับแลมีผลทุกต้นทั้งสิ้น..\" และที่เมืองลับแลมีการใช้ภูมิปัญญาในการกักเก็บน้ำตามลำน้ำต่างๆด้วยวิธีสร้างฝายน้ำล้นเพื่อกักน้ำไว้ใช้ และประวิงเวลาให้น้ำไหลผ่านไปช้าๆ ร.5 ทรงชมว่า \"..ฉลาดทำมาก..\"

วัดพระแท่นศิลาอาสน์

วัดพระแท่นศิลาอาสน์ อำเภอลับแล เป็นพุทธเจดีย์ที่เชื่อว่า มีพระพุทธเจ้า 5 พระองค์มาประทับตรัสรู้และคอยโปรดสัตว์หลังใหญ่กว่าพระแท่นดงรัง ที่กาญจนบุรี ปี พ.ศ. 2383 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จมานมัสการพระแท่นศิลาอาสน์แห่งนนี้ และ ใน ปี พ.ศ. 2483 จังหวัดอุตรดิตถ์ได้นำภาพพระแทนศิลาอาสน์เป็นตราของจังหวัด

วัดพระฝางสวางคบุรีมณีนาถ

วัดพระฝางสวางคบุรีมณีนาถเป็นวัดเดิมที่เจ้าพระฝาง หนึ่งในผู้ชุมนุมกอบกู้อิสรภาพจากพม่าสัยกรุงศรีอยุธยาแตกในคั้งที่ 2 จำพรรษาอยู่ที่นี่ โดยนุ่งห่มจีวรแดง วัดนี้มีพระพุทธรูปงดงามมากชือ \"พระฝาง\" ซึ่ง ร.5 ได้อัญเชิญกลับไปพระนครในปี พ.ศ. 2444 เพื่อประดิษฐานไว้ที่วัดเบญจมบพิตรด้วย และในปี พ.ศ. 2451 ได้มีพระราชหตถเลขาถึง กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ให้จำลองพระฝางเพื่อส่งคืนไปยังวัดพระฝาง แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการต่อ เนื่องจาก ร.5 เสด็จสวรรคต แต่ในปี พ.ศ. 2549 ของรัชกาลปัจจุบัน ได้มีการจัดหล่อ \"พระฝางจำลอง\" ขึ้น และนำ \"พระฝางจำลอง\" กลับคืนสู่วัดพระฝาง
วัดท่าถนน
เป็นวัดที่มีพระบรมรูปหล่อ ของ ร.5 ประดิษฐานอยู่บริเวณหน้าวัด ซึ่งวัดนี้มี \"หลวงพ่อเพ็ชร\" เป็นพระประธาน และ ร.5 ได้อัญเชิญกลับพระนครในปี พ.ศ. 2444 ด้วย แต่ในปี พ.ศ. 2453 ได้เชิญกลับคืนสู่วัด นับแต่นั้นมา
(ภาพถ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับ
พระบรมวงศานุวงศ์และเจ้าเมืองประเทศราชและข้าราชการเมืองอุตรดิฐ
หน้าพลับพลารับเสด็จหน้าวัดวังเตาหม้อ (วัดท่าถนน) จังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ. ๒๔๔๔
เมื่อคราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ - ภาพจากหน้า ๔๙ หนังสือพระราชหัตถเลขา
คราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ ในรัชกาลที่ 5 นับในหนังสือเรื่องเที่ยวที่ต่าง ๆเปนภาคที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๖๕)
\"อนึ่ง เมืองพิชัยนั้นโดยภูมิฐานที่ตั้งไม่ดี มีแต่ร่วงโรยลง ที่เมืองอุตรดิตถ์นี้ความเจริญขึ้นรวดเร็ว มีการค้าขายแลผู้คนมากจนเป็นอำเภอก็จะไม่ค่อยพอที่จะปกครองรักษา ฉันจึงสั่งให้ย้ายที่ว่าการเมืองขึ้นมาตั้งที่พลับพลานี้ แต่อำเภออุตรดิตถ์ก็คงเป็นอำเภออุตรดิตถ์อยู่ อำเภอพิชัยก็คงเป็นอำเภอเมืองพิชัย ย้ายแต่ที่ว่าการเมืองแลศาลเมืองขึ้นมาตั้งที่นี่ แลพลับพลาที่สร้างขึ้นนี้จะใช้ได้ต่อไปอีกหลายปี กว่าการที่ปลูกสร้างใหม่จะแล้วสำเร็จ\"
\"การที่ตลาดติดได้ใหญ่โต เพราะพวกเมืองแพร่ มาลงที่ท่าเสา เหนือท่าอิดขึ้นไปคุ้งหนึ่ง พวกเมืองน่าน ลงมาข้างลำน้ำ พวกเหนือแลตะวันออกลงข้างฝากตะวันออก แต่มาประชุมกัน ค้าขายแลกเปลี่ยนกันอยู่ที่หาดนั้น แต่ก่อนสินค้าข้างล่างขึ้นมายังไม่สะดวกดังเช่นทุกวันนี้ แต่บัดนี้ ลูกค้ารับช่วงกันเป็นตอน ๆ พวกที่นี่ลงไปเพียงปากน้ำโพ พวกปากน้ำโพ รับสินค้าจากกรุงเทพเป็นการสะดวกดีขึ้น\"
\"ต้นข้าวในท้องนาอ้วนล่ำแลใหญ่งามสพรั่ง สุดสายตา ดีกว่าที่ชวาเป็นอันมาก เมื่อสุดที่นาก็ถึงหมู่บ้าน ซึ่งล้วนเป็นสวนต้นผลไม้มีหมากเป็นต้นปลูกเยียดยัดกันเต็มแน่นไป ในหมู่บ้านฉะนี้ก็คล้ายกันกับที่ชวา แต่ของเราดีกว่าที่ล้วนเป็นต้นไม้มีผลทั้งสิ้น\"
\"ถึงเนินศิลาแลง ที่เป็นที่ตั้งวิหารพระแท่น ที่พระแท่นนั้นมีกำแพงแก้วล้อมรอบ เป็นกำแพงหนาอย่างวัดโบราณ มีวิหารใหญ่หลังหนึ่ง โตกว่าวิหารพระแท่นดงรัง ข้างในตรงกลางวิหารมีมณฑป ในมณฑปนั้น มีแท่นก่ออิฐถือปูน ที่กลางเป็นชองสำหรับผู้นมัสการบรรจุเงินและเข็ม ดานริมผนังหลังวิหาร มีพระพุทธรูปกองโต ต้นพุทราอยู่ในกำแพงข้างขวาวิหาร ข้างซ้ายวิหารมีมุขยื่นออกไปเป็นที่บ้วนพระโอษฐ์แลประตูยักษ์อยู่ตรงนั้น\"\"มาจากพระแท่น ๓๐ เส้น ถึงเมืองทุ่งยั้ง เป็นเมืองเก่า มีกำแพงเชิงเทิน วัดมหาธาตุตั้งอยุ่จะกึ่งกลางกำแพงเมือง ได้แวะในที่นั้น พระวิหารหลวงยังคงรูปอยู่ตามเดิม มีเครื่องไม้สลักพอดูได้ เป็นของเก่าที่บานประตู องค์พระมหาธาตุนั้น สร้างขึ้นใหม่ รูปนั้นเป็นแว่นฟ้าสามชั้น แต่ไปเอาพระเจดีย์มอญมาตั้งขึ้นข้างบน ถ้าดูไม่นึกว่ากระไร ก็พอดูได้\"
\"ที่ซึ่งตั้งวัดนั้นเป็นเนินสูงขึ้นไป หน่อย มีกำแพง ๔ ด้านอย่างเดียวกันกับพระมหาธาตุทุ่งยั้ง แต่มุมข้างหนึ่งย่อออกไปสำหรับพระอุโบสถ วัดข้างเหนือนี้ใช้พระอุโบสถเล็ก แลพระวิหารหลวงใหญ่ พระอุโบสถที่กล่าวมาแล้วนั้น คือที่ไว้พระฝาง ซึ่งเชิญลงไปไว้วัดเบญจมบพิตร ฐานยังคงอยู่ที่นี่ เพราะฉะนั้นพระฝางจึงได้ขาดฐาน ฐานที่ทำขึ้นไปใช้ไปพลางเดี๋ยวนี้เลวกว่าของเดิมมากนัก\"




พระราชหัถเลขา สมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว บันทึกขณะ เสด็จประพาส เมืองอุตรดิตถ์
ตอนที่ ๑ อุตรดิตถ์-ลับแล-ทุ่งยั้ง


การดูสถานที่ต่างๆที่เมืองสวรรคโลกเป็นอันแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ครั้นวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า ๔ โมงเศษออกจากที่พักริมวัดน้อยข้ามลำน้ำยมไปฝั่งเหนือ แล้วจึงขึ้นม้าเดินทางไปตามทางที่ราษฎรเดินขึ้นไปไหว้พระแท่นศิลาอาสน์ เดินไปจากฝั่งน้ำได้ ๔๐ เส้นเศษมีศาลาเล็กๆหลังหนึ่งปลูกไว้เป็นที่พักคนเดินขึ้นพระแท่น ที่ระยะ ๑๐๐ เส้นมีศาลาอีกหลังหนึ่งค่อนข้างจะเขื่อง ที่ระยะ ๒๐๐ เส้นมีศาลาแฝดกับสระน้ำเป็นทุ่งโถง ต่อไปนั้นอีก ๙๐ เส้นเศษถึงหนองไก่ฟุบ มีศาลหลังหนึ่งกับสระน้ำ ได้พักร้อนและกินกลางวันที่หนองไก่ฟุบ ทางที่เดินแต่ลำน้ำยมไปถึงที่นี้นับว่าอยู่ข้างจะสะดวก เพราะผ่านไปในป่าโดยมากแดดไม่ค่อยจะร้อน ม้าขี่วิ่งบ้างเดินบ้างชั่วโมงเศษเท่านั้นกินกลางวันแล้วขี่ช้าง เดินตามทางขึ้นพระแท่นต่อไปทาง ๒๕๐ เส้นถึงด่านแม่คำมัน พรมแดนเมืองสวรรคโลกกับเมืองพิชัยต่อกัน พักแรมที่นี้ซึ่งมีศาลาที่พักคนเดินขึ้นพระแท่นอยู่หลังหนึ่ง ในคลองแม่คำมันมีปลาชุม เพราะน้ำมีอยู่ตลอดปีไม่แห้งเลย ลำน้ำนี้ได้น้ำจากห้วยช้าง ซึ่งไหลมาจากเขาทางเมืองลับแล

รุ่งขึ้นวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า ๔ โมงเศษออกจากด่านแม่คำมัน ขี่ม้าไปตามถนนไปพระแท่นอีก ทางไปในทุ่งโดยมาก การเดินทางอยู่ข้างจะร้อนกว่าวันก่อนนี้ ผ่านศาลาที่พักกลางทางหลังหนึ่ง เมื่อจวนถึงพระแท่นเดินไปบนถนนซึ่งถมเป็นคันสูงข้างทุ่ง เพราะตรงนี้เป็นที่ลุ่ม ไปหมดถนนเพียงบ่อหัวดุม ที่ใกล้บ่อมีศาลาที่พัก แต่ไม่พอกับคนที่มาไหว้พระแท่น เพราะฉะนั้นได้เห็นซุ้มปักเป็นที่พักชั่วคราวอยู่มาก

เวลาเช้า ๔ โมงเศษถึงวัดพระแท่นศิลาอาสน์ เป็นเคราะห์ดีที่ได้ไปพอเวลาเทศกาลราษฎรขึ้นไหว้พระแท่น กำหนดวันขึ้น ๑๓ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เดือนสาม วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์นี้ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ จึงได้เห็นคนอยู่มาก ที่ถนนตรงหน้าพระแท่นออกไปมีร้านตั้งขายของต่างๆ คนเดินไปมาเบียดกันแน่นคล้ายที่พระพุทธบาทในเวลาเทศกาล อยู่ข้างจะครึกครื้นมาก ได้ฉายรูปหมู่คนไว้ดูเล่น แล้วจึงไปนมัสการพระแท่น พระแท่นศิลาอาสน์นี้ผู้ที่ไม่เคยไปมักอยากไปมาก แต่ครั้นเมื่อไปถึงแล้วคงรู้สึกเสียใจ ตัวพระแท่นเองก็ไม่เห็นเพราะมีเป็นพระแท่นทำด้วยไม้ครอบศิลานั้นอยู่ มีของดีอยู่แต่บานประตูซึ่งคล้ายบานประตูวิหารพระพุทธชินราชที่เมืองพิษณุโลกนั้นมาก(๑)

กินกลางวันที่ศาลาใกล้วัดพระแท่นนั้นแล้ว ขึ้นม้าขี่เข้าไปเมืองอุตรดิตถ์ทางถนนพระแท่น ที่พักตั้งอยู่ริมลำน้ำแควใหญ่ทางแถบที่ว่าการเมืองพิชัย

เมืองอุตรดิตถ์หรือที่เรียกตามที่ตั้งใหม่ว่าเมืองพิชัยนี้ เป็นเมืองใหม่แท้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องป่วยการเที่ยวหาของโบราณอะไร ดูแต่ของใหม่ๆมีดูหลายอย่าง ที่นี่เป็นเมืองสำคัญในมณฑลนี้แห่งหนึ่ง เพราะเป็นเมืองด่านที่พักสินค้าขึ้นล่องมาก เพราะฉะนั้นคนพ่อค้าพาณิชอยู่ข้างจะมีมาก ตลาดท่าอิฐมีร้านรวงอยู่มากครึกครื้น มีข้อเสียใหญ่อยู่อย่างหนึ่ง คือตลาดท่าอิฐนี้ต้องน้ำท่วมทุกปีจึงไม่น่าจะเป็นที่ถาวรอยู่ได้ น่าจะขยับขยายตลาดเข้าไปเสียให้ห่างจากฝั่งแม่น้ำอีกสักหน่อย

ถ้าจะเล่าถึงเมืองอุตรดิตถ์ต่อไปอีกก็ได้อีกบ้าง แต่ความตั้งใจของข้าพเจ้ามีอยู่ว่า จะเล่าเรื่องของโบราณในเมืองเหนือ ซึ่งเป็นของที่มีคนได้เห็นน้อย ยิ่งกว่าที่จะเล่าถึงของที่มีและเป็นอยู่ในปัตยุบันนี้ จึงต้องของดไว้ไม่กล่าวถึงอุตรดิตถ์อีกต่อไปมากกว่านี้

แต่ถึงได้มาพ้นแดนเมืองสวรรคโลกแล้วก็ดี ยังมีที่พึงดูซึ่งเกี่ยวข้องในทางโบราณคดีอยู่บ้าง ในที่ใกล้ๆอุตรดิตถ์ขึ้น กล่าวคือตามแถบลับแลกับทุ่งยั้ง

เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ข้าพเจ้าได้ไปเที่ยวที่ลับแล ออกจากที่พักที่อุตรดิตถ์ขี่ม้าไปทางบ้านท่าอิฐ เดินตามถนนอินทใจมีไปเมืองลับแล พระศรีพนมมาศได้จัดแต่งที่พักไว้ที่ตำบลม่อมชิงช้า ที่ริมที่พักนี้พระศรีพนมมาศกับข้าราชการและราษฎรได้เรี่ยไรกันสร้างโรงเรียนขึ้นโรงหนึ่ง ซึ่งขอให้ข้าพเจ้าเปิด ข้าพเจ้าได้เปิดให้ในเวลาบ่าย วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์นั้น และให้นามว่า \"โรงเรียนพนมมาศพิทยากร\" แล้วได้เลยออกไปที่เขาม่อมจำศีล บนยอดเขานี้แลดูเห็นที่แผ่นดินโดยรอบได้ไกล มีทุ่งนาไปจนสุดสายตา แลเห็นเขาเป็นทิวเทือก ซ้อนสลับกันเป็นชั้นๆราวกับกำแพงน่าดูหนักหนา

รุ่งขึ้นวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ข้าพเจ้ากับพวกที่ไปด้วยกัน ได้ช่วยกันเริ่มถมทำนบปิดลำน้ำอยู่ริมม่อนชิงช้า เป็นความคิดของพระศรีพนมมาศจับทำฝายต่อไป เหมืองฝายในเขตลับแลนี้พระศรีพนมมาศได้จัดทำขึ้นไว้มากแล้ว เป็นประโยชน์ในการเพาะปลูกมากเพราะมีน้ำใช้ได้ตลอดปี ที่ลับแลบริบูรณ์มากทั้งไร่นาและสวนผลไม้ต่างๆหากินได้เสมอ นับว่าพระศรีพนมมาศเป็นนายอำเภอดีอย่างยิ่งคนหนึ่ง

เวลาบ่ายออกจากที่พักตำบลม่อนชิงช้า ขี่ม้าไปตามถนนพระแม่นเข้าเขตทุ่งยั้ง ซึ่งบัดนี้รวมอยู่ในอำเภอลับแลแล้ว ลัดเข้าไปในป่าไปดูที่ซึ่งเรียกว่าเวียงเจ้าเงาะ ที่นี้เป็นที่ชอบกล ตอนนอกที่สุดมีเป็นเนินดินมีคูเล็กๆ หลังเนินแล้วถึงกำแพงเตี้ยๆก่อด้วยดินกับแลง หลังกำแพงนี้มีคูใหญ่กว้าง ๘ วา ๒ ศอกคืบ ลึกประมาณ ๒ วา ขุดลงไปในแลง เพราะฉะนั้นข้างคูแลเห็นและเรียบประดุจคลองซึ่งก่อเขื่อนแลงอย่างเรียบร้อย กลางคูมีเป็นคันซึ่งเข้าใจว่าคงจะใช้เป็นถนนสำหรับเดินตรวจรักษาหน้าที่เชิงเทินชั้นนอก บนสันคันนั้นกว้าง ๓ วา คันสูงพ้นพื้นคูขึ้นมา ๕ ศอก ๖ นิ้ว คันนี้ก็เป็นแลงทึบทั้งอัน ถนนนี้ปันเป็นคูเป็น ๒ ร่อง ร่องนอกกว้าง ๔ วา ร่องในกว้าง ๖ ศอกคืบ ในคูเข้าไปมีกำแพงก่อด้วยแลงตัดเป็นแผ่นอิฐ ซึ่งเข้าใจว่าคงจะขุดขึ้นมาจากในคูนั้นเอง

ถามดูในวันนั้นว่าเมืองนี้กว้างยาวเท่าใด รูปร่างเป็นอย่างไร ก็ไม่ได้ความ เพราะไม่มีใครได้ตรวจมานานแล้ว มีกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านผู้หนึ่งบอกว่าเป็นรูปไข่ และถนนพระแท่นได้ทำข้ามไปตอนหนึ่ง ข้าพเจ้าได้วานหลวงภูวสถานพินิจ พนักงานนายทะเบียนที่ดิน ให้ช่วยจัดการส่งพนักงานแผนที่ไปตรวจดู ภายหลังได้แผนที่มาดูก็เห็นว่ารูปนั้นไม่เชิงเป็นรูปไข่ แต่ได้ทำไปตามรูปของที่ และไม่เป็นเมืองใหญ่นัก ข้างในกำแพงมีเป็นเจดีย์อยู่แห่งหนึ่ง นอกจากนั้นก็ไม่เห็นมีอะไร

ตามความสันนิษฐานของข้าพเจ้าว่าเวียงเจ้าเงาะนี้เป็นเทือกป้อมหรือค่าย ซึ่งสร้างขึ้นเป็นที่รวบรวมครัวเข้าไว้เป็นที่มั่นในคราวมีศึก บางทีจะได้สร้างขึ้นครั้งที่ทราบข่าวศึกพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเมืองเชียงแสนจะมาติด ตามพงศาวดารเหนือมีข้อความปรากฏอยู่ว่า พระเจ้าพสุจราชเมืองศรีสัชนาลัยครั้นได้ทราบข่าวศึกพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ก็ให้ตกแต่งพระนครไว้ท่า กับทั้งหัวเมืองทั้งปวงก็ให้เตรียมการที่จะออกสู้ข้าศึก \"แล้วให้กำหนดกฎหมายไปถึงเมืองเมืองกัมโพชนครให้กำหนดกฎหมายสืบๆกันไปถึงเมืองคีรี เมืองสวางคบุรี เมืองยางคีรี เมืองนครคีรี เมืองขอยคีรี และเมืองเหล็ก เมืองสิงทา เมืองทั้งนี้ขึ้นแก่เมืองกัมโพชนคร ท้าวพระตกแต่งบ้านเมืองไว้ทุกแห่ง\" ดังนี้

กัทโพชนครนี้ตามพงศาวดารเหนือว่าอยู่ที่ตำบลทุ่งยั้ง แต่ถ้าจะดูตามภูมิพื้นที่ น่าจะตั้งที่ลับแลมากกว่า เพราะที่ดินบริบูรณ์และมีเขาล้อมเกือบรอบเป็นชัยภูมิดี สมควรจะตั้งเมืองหน้าด่านได้ ข้าพเจ้าจะขอเดาต่อไปว่า เดิมเมืองที่ตั้งอยู่ตำบลทุ่งยั้งหรือลับแลนั้น คงจะไม่ได้เป็นเมืองที่มีกำแพงมั่นคง ต่อเมื่อตกใจเตรียมรับศึกเชียงแสน จึงได้คิดทำกำแพงและคูขึ้น การที่จะทำกำแพงต้องอาศัยศิลาแลงมาก จึงได้มาเลือกที่ซึ่งเรียกว่าเวียงเจ้าเงาะทำเป็นเมืองมีกำแพงขึ้น คือมาอยู่กับบ่อแลงทีเดียว (ในเวลาเดี๋ยวนี้ที่เมืองแห่งหนึ่งตามริมที่นั้นยังมีแลงอ่อนๆขุดขึ้นมาได้) ครั้นศึกมาจวนตัว ก็อพยพเทครัวเข้าไปไว้กำแพง ข้อที่ว่าเมืองทุ่งยั้งเป็นนคร คือเป็นเมืองลูกหลวงนั้น ข้าพเจ้าไม่สู้เชื่อนัก เข้าใจว่าจะเป็นเรื่องที่แต่งประกอบขึ้นภายหลัง คือมีผู้ได้ไปเห็นที่ซึ่งเรียกว่าเวียงเจ้าเงาะเดี๋ยวนี้ เห็นมีกำแพงและคูดูเป็นที่มั่นคง ก็เอาเอาว่าเป็นเมืองใหญ่ จึงเลยแต่งเรื่องราวผสมขึ้น ให้เป็นนครลูกหลวงของศรีสัชนาลัย ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าได้เคยเป็นอะไร นอกจากเมืองด่าน

ส่วนเมืองอีก ๗ เมืองที่กล่าวว่าเป็นเมืองขึ้นกัมโพชนครนั้น ข้าพเจ้าก็ไม่สู้เชื่อนักว่าจะมี ถ้าแม้จะมีก็เป็นด่านอยู่ตามเขาลับแล แต่ที่ว่ามีถึง ๗ แห่งนั้นเห็นจะมากเกินไป จะเป็นด้วยเอานามไปปนกันยุ่งก็ได้ เช่นเมืองคีรีกับนครคีรีนั้น น่าจะว่าเป็นเมืองเดียวกัน และยังสงสัยต่อไปอีกว่าเมืองขอนคีรีนั้น จะเป็นอันเดียวกับนครคีรีอีก คืออาจจัเรียกนครคีรีนั้นสั้นห้วนลงไปเป็น \"คอนคีรี\" แล้วต่อไปนี้อีกก้าวเดียวก็คลายเป็นขอนคีรีไปได้แล้ว จึงเข้าใจว่าสามชื่อนั้นคงจะเป็นเมืองๆเดียว แต่นี่ก็เป็นการเดาเล่นเปล่าๆหาหลักฐานมิได้ รวบรวมใจความว่าทางที่จะสันนิษฐานหมดเพียงเท่านี้

และมาภายหลังได้ทราบจากพระยาอุทัยมนตรี ว่าได้ไปตรวจค้นพบกำแพงเมืองมีต่อลงไปอีกจนถึงลำน้ำ แค่ก็เป็นคำบอกเล่า ข้าพเจ้าสันนิษฐานอย่างอื่นต่อไปอีกยังไม่ได้ จนกว่าจะได้ขึ้นไปเห็นด้วยตนเอง(๒)
ตอนที่ ๒ ล่องลงแควใหญ่ - แวะดูพิชัยเก่า


เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า ๒ โมงเศษ ออกเรือล่องจากอุตรดิตถ์ และนับว่าออกจากตอนที่มีของดูสนุก ตั้งหน้ากลับบ้านเท่านั้น ที่จะกล่าวต่อไปก็มีแต่บอกระยะทางเป็นพื้น ที่ข้าพเจ้านำมาลงไว้ก็เพราะหวังจะให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่จะเดินทางต่อไปในกาลเบื้องหน้า ในวันแรกที่ล่องนั้นเวลาเที่ยงเศษถึงบ้านท่ายวน พักคนแจวเรือหน่อยหนึ่ง แล้วล่องต่อมา จนเวลาจวนบ่าย ๔ โมงถึงที่ว่าการอำเภอตรอน หยุดนอนคืนหนึ่ง

รุ่งขึ้นวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า ๒ โมงเศษออกเรือ ต้องแจวบ้างเข็นบ้าง พักร้อนที่ตำบลบ้านเกาะ แล้วล่องตจ่อมาจนบ่าย ๔ โมงเศษ ถึงที่ว่าการอำเภอพิชัย(เมืองเก่า)

วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ เวลาเช้าขึ้นดูเมืองพิชัยเก่า ขึ้นจากเรือแล้วต้องเดินไปตามสะพานสิบวา จึงถึงที่เป็นหาดน้ำแห้ง เดินไปบนหาดอีกไกลจึงถึงที่เป็นตลิ่งแท้ ขึ้นตรงที่ว่าการอำเภอแล้วเลี้ยวไปทางเหนือ เดินไปตามถนนที่เลียบไปตามริมฝั่งแม่น้ำฝั่งตะวันออก ผ่านบ้านเรือนไร่สวนและวัดติดๆกันไปจนถึงกำแพงเมืองด้านใต้ เลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันออก เดินเลียบกำแพงเมืองด้านใต้ไป เพื่อดูสถานต่างๆในเมืองพิชัยเก่า พระสวัสดิ์ภักดีกรมการพิเศษเป็นผู้นำทาง

กำแพงเมืองนี้เป็นอิฐกับดินเป็นต้น ตามพงศาวดารกรุงเก่าฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิต มีข้อความอยู่ว่า เมื่อจุลศักราช ๘๓๔ ปีมะโรงจัตวาศก แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแรกให้ก่อกำแพงเมืองพิชัย ในฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติว่าก่อกำแพงเมื่อศักราช ๘๕๒ ปีจอโทศก ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่าจะใกล้ข้างถูกมากกว่าในฉบับโน้น จึงเข้าใจได้ว่าก่อนสมัยนี้เมืองพิชัยไม่มีกำแพงอิฐ แต่คงมีกำแพงค่ายระเนียด แต่เมืองพิชัยไม่ใช่เป็นเป็นเมืองใหม่ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เพราะในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดี(อู่ทอง) เมืองพิชัยเป็นเมืองประเทศราชอยู่แล้ว จึงต้องเข้าใจว่าไม่ใช่แต่เป็นเมืองเก่า ทั้งเป็นเมืองใหญ่อยู่ด้วย

ข้าพเจ้าได้ขอแรงพนักงานแผนที่ กองข้าหลวงเกษตรที่อุตรดิตถ์ให้ล่วงหน้าลงมาทำแผนที่ไว้ตรวจ ได้ความตามแผนที่นี้ว่า รูปเมืองเดิมเป็นสี่เหลี่ยรี กว้าง ๑๕ เส้น ยาว ๒๔ เส้น แต่ถูกสายน้ำแทงกำแพงพังไปเสียทางด้านตะวันตกเกือบหมด เหลืออยู่ยาวสัก ๒ เส้นเท่านั้น และด้านใต้ทางมุมตะวันตกเฉียงใต้พังเสียราว ๑๐ วา แต่ด้านตะวันออกกับด้านเหนือยังบริบูรณ์ จึงเห็นได้ว่าเมืองพิชัยไม่ใช่เมืองเล็กน้อย แต่ไม่มีตำนานปรากฏว่าสร้างขึ้นแต่เมื่อใด ในพงศาวดารเหนือไม่มีกล่าวถึงเมืองพิชัย แต่ถ้าจะลองเดาเล่นก็น่าจับให้เป็นบริบูรณ์นคร เมืองบริบูรณ์นครนั้น

ตามพงศาวดารเหนือกล่าวว่าได้สร้างขึ้นเมื่อครั้งบาธรรมราชครองเมืองศรีสัชนาลัย ต่อจากตอนสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ไปแล้ว มีข้อความกล่าวไว้ว่า ได้ส่งลูกหลวงออกไปเที่ยวตั้งเมืองขึ้น ๓ แห่ง ตือตำบลบ้านปัญจมัชฌคามขึ้นเป็นเมืองหริภุญชัยให้เจ้าอโลกกุมารไปครองแห่งหนึ่ง ตั้งตำบลบ้านอุตรคามขึ้นเป็นเมืองกัมโพชนคร (คือทุ่งยั้ง) ให้เจ้าธรรมกุมารไปครองแห่งหนึ่ง ตั้งบ้านบุรคามขึ้นเป็นเมืองบริบูรณ์นครให้เจ้าสีหกุมารไปครองอีกแห่งหนึ่ง เมืองหริภุญชัยกับเมืองกัมโพชนครก็ได้ความแล้วอยู่ที่ไหน แต่บริบูรณ์นครนี้ไม่มีวี่แววอะไรเลยในหนังสือ แต่ตามความนิยมของชาวเหนือว่าตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่หรือแม่น้ำน่านใกล้ๆเมืองตรอน แต่จะสืบเอาหลักฐานอะไรก็ไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงอยากเดาว่าจะเป็นเมืองพิชัยนี้เอง ที่ตั้งของเมืองนี้ดูก็ดี ชัยภูมิควรเป็นเมืองด่านของศรีสัชนาลัยได้อีกแห่งหนึ่ง ทำนองเดียวกับเมืองทุ่งยั้งฉะนั้น

ภายในเมืองพิชัยเก่าในกาลบัดนี้รกเป็นพงเสียมาก แต่นายอำเภอได้จัดถางทางไว้ให้ไปดูสถานที่ต่างๆได้บ้าง ที่ได้ไปดูแรกคือที่ราษฎรเรียกว่าคูปราสาท คูนี้ขุดยาวยื่นเข้าไปกลางเมืองจากกำแพงเมืองด้านใต้ มีเป็นคันดินอยู่ทั้งสองฟากคู คูนั้นตรงข้ามไปจนเกือบกลางเมือง จึงไปเลี้ยววงกองดินสูงอันหนึ่ง ซึ่งนิยมกันว่าเป็นตัวปราสาท บนเนินนี้ตรวจดูเห็นก้อนศิลาแลงตัดเป็นรูปแปดเหลี่ยมกองอยู่เกลื่อนกลาด แต่พอเข้าใจได้ว่าเป็นก้อนแลงที่ใช้ก่อเสา บนนั้นมีกองดินย่อมๆซึ่งคุ้ยดูได้อิฐ จึงเดาว่าคงเป็นฐานตั้งพระ และบนเนินเนินนี้คงจะเป็นวิหารอยู่ ในคูที่ริมเนินนี้ยังมีน้ำขังอยู่ ถามได้ความว่าต่อเดือน ๕ น้ำจึงจะแห้งหมด จึงสันนิษฐานว่าเดิมคลองนี้คงจะไปต่อกับลำธารอะไรสักอันหนึ่ง ส่วนเนินที่เรียกว่าปราสาทนั้น ข้าพเจ้าสงสัยว่าไม่ใช่ปราสาท คงเป็นวัด แต่วังหรือที่อยู่ของเจ้าเมืองอาจจะอยู่ที่ริมๆนั้น และคลองนั้นอาจจะขุดเข้ามาสำหรับให้มีน้ำใช้เล่นในสวน เหมือนอย่างวังในเมืองสวรรคโลกนั้นก็เป็นได้

ต่อจากที่คูปราสาทไป ได้ไปดูที่ปรางค์อันหนึ่ง ซึ่งไม่มีผู้ใดบอกได้ว่าเป็นวัดอะไร ทำให้รู้สึกว่าขาดคนช่างรู้เช่นอย่างนายเทียนเมืองสวรรคโลก จึงจำเป็นต้องนึกเดาเอาเองตามชอบใจโดยมาก ปรางค์นั้นก่อด้วยอิฐ มีเหลี่ยมไม้สิบสองบริบูรณ์ดีอยู่มุมหนึ่ง ตัวปรางค์ฐานสี่เหลี่ยม ๖ ศอก ๗ นิ้วกึ่ง ด้านตะวันตกด้านเหนือด้านใต้มีซุ้มมีรูปอะไรรัวๆอยู่ทางด้านเหนือแลเห็นไม่สู้ถนัด เพราะเป็นรูปปั้นด้วยปูนพังเสียแล้ว ยังเห็นเป็นแต่รอยๆมีเค้ารูปคน ทางด้านตะวันออกมีบันไดขึ้นไป ๒ หรือ ๓ ขั้นแล้วถึงแท่น ตัวปรางค์นั้นถูกขุดค้นหาตรุทรัพย์เสียจนป่นแทบจะไม่เป็นรูป ทางด้านตะวันออกต่อปรางค์ออกมามีฐานสี่เหลี่ยมสูงพ้นดินหลายศอก ก่อด้วยอิฐเหมือนเช่นตัวปรางค์ ทางด้านตะวันตกของฐานนั้น มีผู้ขุดลงไปไว้ลึก จึงเห็นได้ว่าก่อรากด้วยอิฐแข็งแรง ซึ่งทำให้เจ้าใจว่าคงจะเป็นที่ตั้งของอะไรหนักๆบนฐานนั้น กับทางหน้าตะวันตกของฐานนั้นพบท่ออยู่อันหนึ่งก่อด้วยอิฐกับปูน เมื่อแรกเห็นเข้าใจว่าจะเป็นบัวปลายเสาเพราะเห็นเป็นรูปกลมปลายกลวง แต่ครั้นลองขุดคุ้ยดูจึงปรากฏว่าเป็นท่อซึ่งติดอยู่กับฐาน ท่อนี้กับรูปปรางค์ประกอบกันเข้าสองอย่างทำให้ข้าพเจ้าเดาไปว่า ที่แห่งนี้จะเป็นเทวสถานหรือโบสถ์พราหมณ์ ฐานนั้นเดาว่าเป็นที่ตั้งเทวรป พอสรงน้ำเทวรูปน้ำก็จะได้ไหลลงทางท่อรองน้ำนั้นไปใช้เป็นน้ำมนต์ต่อไปดูก็เข้าทีดี ที่นี้ดูท่าทางไม่เป็นวัดพุทธศาสนา จะว่าฐานนั้นเป็นวิหารก็ย่อมไปและฐานชุกชีตั้งพระก็ไม่มี ทั้งทีภายในวงกำแพงแก้วที่มีล้อมอยู่นั้นก็ย่อม คือกว้าง ๑๕ วา ยาว ๒๑ วาเท่านั้น การที่จะมีโบสถ์พราหมณ์ในเมืองพิชัยนี้ไม่เป็นการเหลือเกิน เพราะรู้อยู่ว่าในเมืองเหนือมีพราหมณ์อยู่เป็นอันมาก พึ่งมาสูญวงศ์หายไปในไม่ช้านัก

นอกจากนี้ก็ไม่มีชิ้นอะไรที่ดี ภายในกำแพงเมืองที่ได้เห็นแต่นอกกำแพงเมืองออกไปทางทิศเหนือ และไม่ห่างจากกำแพงนักมีวัดที่ชาวเมืองพิชัยนับถือ เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งเรียกว่าวัดเสมา การก่อสร้างในที่นี้ดูอยู่ข้างจะมั่นคง ใช้ศิลาแลงเป็นพื้น แต่มีอิฐปนอยู่บ้าง มีวิหารแคบๆสูงๆอยู่หลังหนึ่ง ฐาน ๕ วา ๒ ศอกสี่หลี่ยม มีวิหารยาวต่อออกมาข้างหน้าทางทิศตะวันออก เข้าใจว่าคงจะวางแบบอย่างวัดศรีชุมหรือวัดสระปทุมนั้นเอง วัดนี้ที่นับถือกันว่าเป็นวัดสำคัญ เพราะขุดตรุได้พระพิมพ์ตะกั่ว เป็นรูปพระยืนและพระลีลา ซึ่งเรียกตามศัพท์สามัญว่า \"พระกำแพงยืน\" หรือ \"พระกำแพงเขย่ง\" นั้นอย่างหนึ่ง กับรูปพระมารวิชัยแบบพระพุทธชินราชอีกอย่างหนึ่ง พระชนิดยืนนับถือกันว่าเป็นเครื่องรางคุ้มกันภยันตรายได้ต่างๆ และผู้ที่ถือไว้เป็นผู้คงกะพัน

ออกจากวัดเสมากลับเข้าในเมือง เดินเลียบกำแพงด้านเหนือต่อไป จนถึงด้านที่กำแพงพัง ในเวลานี้มุมเมืองทิศตะวันตกเฉียงเหนืออยู่ห่างลำน้ำอยู่มาก ด้านที่กำแพงนั้นก็อยู่ที่ดอน จึงเห็นได้ว่าภายใน ๔๐๐ ปีเศษ ตั้งแต่ทำกำแพงเมืองพิชัยขึ้นใหม่นี้ แม่น้ำได้เปลี่ยนทางหลายครั้ง เมื่อแรกก่อกำแพงเมือง แม่น้ำคงอยู่ไม่ห่างกำแพงนัก แล้วสายน้ำเปลี่ยนแทงมาทางตะวันออก จนตลิ่งพังพาเอากำแพงเมืองด้านตะวันออกลงน้ำไปด้วย แล้วสายน้ำกลับเปลี่ยนไปทางทิศตะวันตกอีก ตลิ่งทางฝั่งตะวันออกก็งอกตามออกไป จนมุมเมืองด้านตะวันตกเฉียงเหนือมาอยู่บนดอนเช่นเดี๋ยวนี้

ในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์นั้น ดูเมืองพิชัยแล้ว กินกลางวันที่วัดหน้าพระธาตุแล้วกลับไปลงเรือ นอนค้างที่นั้นอีกคืนหนึ่ง

รุ่งขึ้นวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ล่องจากพิชัยเก่า ผ่านเข้าแดนเมืองพิษณุโลก หยุดนอนที่ตำบลท่างาม ระยะนี้อยู่ข้างใกล้ แต่ครั้นจะกะให้ยาวกว่านี้ก็เห็นว่าเรือไปด้วยกันมาก ถ้าไปติดเสียบ้างจะลำบาก วันที่ ๒๖ นอนที่หน้าที่ว่าการอำเภอพรหมพิราม วันที่ ๒๗ นอนที่ตำบลไผ่ขอ วันที่ ๒๘ ออกเรือจากไผ่ขอเวลาเช้า ๒ โมง พอเวลา ๕ โมงก็ถึงเมืองพิษณุโลก พักอยู่แพหน้าที่ว่าการมณฑล


ความคิดเห็นที่ 1
ผู้แสดงความคิดเห็น :
Rambo_Thai
แสดงความคิดเห็นเมื่อ: 15 ม.ค. 56 - 08:09:17


ความคิดเห็นที่ 2
ผู้แสดงความคิดเห็น :
Rambo_Thai
แสดงความคิดเห็นเมื่อ: 15 ม.ค. 56 - 08:10:26


ตราประจำจังหวัดอุตรดิตถ์
ความคิดเห็นที่ 3
ผู้แสดงความคิดเห็น :
Rambo_Thai
แสดงความคิดเห็นเมื่อ: 15 ม.ค. 56 - 08:11:51


ความคิดเห็นที่ 4
ผู้แสดงความคิดเห็น :
Rambo_Thai
แสดงความคิดเห็นเมื่อ: 15 ม.ค. 56 - 08:14:47


รูป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองอุตรดิตถ์
ความคิดเห็นที่ 5
ผู้แสดงความคิดเห็น :
Rambo_Thai
แสดงความคิดเห็นเมื่อ: 15 ม.ค. 56 - 08:15:37


ความคิดเห็นที่ 6
ผู้แสดงความคิดเห็น :
Rambo_Thai
แสดงความคิดเห็นเมื่อ: 15 ม.ค. 56 - 08:16:58


รูปแม่น้ำน่าน และวัดพระฝางเมื่อคราวเด็จประพาสเมืองอุตรดิตถ์ ครับ
ความคิดเห็นที่ 7
ผู้แสดงความคิดเห็น :
Rambo_Thai
แสดงความคิดเห็นเมื่อ: 15 ม.ค. 56 - 08:20:47


ความคิดเห็นที่ 8
ผู้แสดงความคิดเห็น :
Rambo_Thai
แสดงความคิดเห็นเมื่อ: 15 ม.ค. 56 - 15:10:17


บรรยากาศ ลำน้ำน่าน ที่ผ่านเมืองอุตรดิตถ์ สมัย ที่ ร.5 เสด็จประพาส เมืองอุตรดิตถ์
ความคิดเห็นที่ 9
ผู้แสดงความคิดเห็น :
woot
แสดงความคิดเห็นเมื่อ: 15 ม.ค. 56 - 21:08:50

ขอบคุณพี่ แรมโบ้ ผมอ่านจนตาลายไปเลย ได้ความรู้ดี ขอบคุณมาก ...........อ้วก เมา
ความคิดเห็นที่ 10
ผู้แสดงความคิดเห็น :
joooooo7
แสดงความคิดเห็นเมื่อ: 21 ม.ค. 56 - 18:56:20

ชอบมาก....เหมือนได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์เมืองอุตรดิตถ์อีกมุมหนึ่ง

ท่านต้องสมัครสมาชิกก่อนถึงจะมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นในกระดานนี้ได้


สมัครสมาชิกใหม่ คลิ๊กที่นี่ได้เลย ! ! ฟรี ! ! ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น